GameFi คืออะไร? การเล่นเกมและ DeFi ใช้ร่วมกันอย่างไร

ภาคภูมิ เกิดปราบ
| 14 min read

อุตสาหกรรมเกมทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 400 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เกมแบบดั้งเดิมมีข้อบกพร่องอยู่ กล่าวคือ ผู้เล่นไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรภายในเกมเลย ผู้พัฒนาเกมสามารถเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ได้ตลอดเวลาเพื่อลบฟีเจอร์หรือปรับเปลี่ยนสกุลเงินในเกม ในขณะที่ GameFi มีแนวทางที่แตกต่างออกไป โดยให้ผู้เล่นเป็นเจ้าของทรัพย์สินในเกมอย่างแท้จริงและมักจะมีความสามารถในการหาโทเค็นจากการเล่นเกมด้วย

ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปสำรวจ GameFi ว่าคืออะไร ทำงานอย่างไร และจะเริ่มต้นได้อย่างไร เราจะพูดถึงความเสี่ยงบางอย่างที่ควรระวังก่อนที่จะออกเดินทางผจญภัยบนบล็อกเชนในครั้งแรกของคุณ รวมถึงเล่นเกมยังไงให้ได้เงินและ GameFi จะช่วยกำหนดอนาคตของวงการเกมได้อย่างไร

โดยสรุป: GameFi คืออะไร


GameFi ย่อมาจากคำว่า Game Finance หมายถึงรูปแบบเกมออนไลน์ที่ผสมผสานเกมบนบล็อกเชนเข้ากับกลไก DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งรวมถึง Smart Contract และ Non-Fungible Token (NFT) เพื่อเป็นตัวแทนของทรัพย์สินในเกม

เกม GameFi มักจะมีองค์ประกอบของการเล่นเพื่อหารายได้ (Play-to-Earn) แต่ยังอาจมีเศรษฐกิจและทรัพย์สินในเกมที่สามารถซื้อขายบนตลาดได้ทั้งภายในและภายนอกเกม

DeFi ช่วยทำให้เกม GameFi แตกต่างจากเกมแบบดั้งเดิม โดยเปิดให้ทุกคนเข้าถึงและเป็นเจ้าของทรัพย์สินในเกมอย่างแท้จริงผ่าน NFT ที่สามารถซื้อขายได้ DeFi ยังนำความสามารถในการใช้ Smart Contract ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำงานบนบล็อกเชน เพื่อทำให้สามารถซื้อขายและชำระค่าบริการในเกมได้ด้วย

การเล่นเกมและ DeFi ทำงานร่วมกันอย่างไร


GameFi หลายเกมใช้คุณสมบัติหลายอย่างของ DeFi รวมถึงการเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ซื้อขายได้ผ่าน NFT ตลอดจนสกุลเงินในเกมซึ่งสามารถซื้อขายในตลาดอื่นๆ ได้ ซึ่งทำให้เป็นเกมที่เล่นแล้วได้เงิน

ยกตัวอย่างเช่น MANA ซึ่งเป็นโทเค็นของโปรเจ็กต์ Metaverse Decentraland เปิดตัวที่ราคา 0.024 ดอลลาร์ และต่อมาขึ้นไปสูงสุดที่ 5.90 ดอลลาร์

Decentraland

 ผู้เล่นสามารถหาโทเค็น MANA ได้แทบไม่จำกัดในเกม ตั้งแต่การจัดอีเว้นท์ไปจนถึงการให้บริการ การเช่าที่ดินเสมือน หรือแม้แต่การขาย NFT ที่คุณสร้างขึ้น คุณยังสามารถนำ MANA ไปฝากเพื่อสร้างผลตอบแทนได้ด้วยการเป็น Liquidity Provider บน DEX อย่าง Uniswap

Decentraland

การเป็นเจ้าของทรัพย์สินในเกมและความสามารถในการทำธุรกรรมด้วยทรัพย์สินเหล่านั้นได้ทุกที่ในโลกคริปโตและทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต สิ่งเหล่านี้ทำให้การเล่นเกมและ DeFi มาบรรจบกันจนกลายเป็น GameFi

GameFi กับเกมแบบดั้งเดิมต่างกันอย่างไร


ความแตกต่างระหว่างเกมแบบดั้งเดิมกับ GameFi เริ่มต้นจากรูปแบบเกม Pay-to-Play กับ Play-to-Earn อย่างไรก็ตาม โฆษณาในเกมเป็นจุดที่ทั้งสองรูปแบบมาบรรจบกัน ผู้เล่นในเกมทั้งสองรูปแบบอาจเห็นโฆษณาในเกมบางครั้ง เช่น ป้ายโฆษณาในเกม

เกมแบบดั้งเดิมมักจะใช้โมเดล Pay-to-Play ซึ่งผู้เล่นต้องซื้อเกมหรือจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน ในทางตรงกันข้าม GameFi เน้นโมเดล Play-to-Earn โดยให้รางวัลแก่ผู้เล่นสำหรับการเล่นเกมให้สำเร็จ สร้างรายได้จากกิจกรรมในเกม และเป็นการหาเงินจากการเล่นเกมส์

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า GameFi จะเล่นฟรีเสมอไป คุณอาจต้องลงทุนก่อนจึงจะเริ่มเล่นได้ ตัวอย่างเช่น เพื่อที่จะเล่น Axie Infinity คุณจะต้องมีทีม Axie พร้อมรบ 3 ตัว ซึ่ง Axie คือตัวละครที่ใช้ในเกม โชคดีที่คุณสามารถมี Axie ระดับพื้นฐานสามตัวได้ในราคาไม่ถึง 10 เหรียญ หรือคุณจะเล่น Axie Infinity Origin ฟรีก็ได้

Axie Infinity

ความแตกต่างหลักอีกประการระหว่างเกมแบบดั้งเดิมและ GameFi คือเรื่องความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน GameFi แปลงทรัพย์สินในเกมให้เป็นโทเค็น ทำให้ซื้อขายได้และสร้างตลาดรองสำหรับ NFT ในเกม

ศักยภาพในการ Play-to-Earn

เกมแบบดั้งเดิมหลายเกมมีสกุลเงินในเกมและอนุญาตให้ผู้เล่นหาโทเค็นในเกมได้จากการทำภารกิจต่างๆ ชนะการต่อสู้ หรือทำเป้าหมายอื่นๆ ให้สำเร็จ แต่สกุลเงินและโทเค็นในเกมจะยังคงอยู่ในเกมเท่านั้น ไม่มีวิธีที่จะแปลงโทเค็นหรือเหรียญในเกมให้เป็นเงินในโลกจริง

ในทางกลับกัน เกม GameFi อนุญาตให้ผู้เล่นหารายได้ภายในเกมและแปลงรายได้นั้นให้เป็นสกุลเงินแบบดั้งเดิม หรือนำทรัพย์สินไปหารายได้จากวิธีอื่นในโลก DeFi ได้ ผู้เล่นใช้ GameFi ในการ Farming รางวัล และยังหาเงินได้จากวิธีอื่นๆ เช่น การขาย NFT โอกาสในการหารายได้ผ่าน GameFi นั้นมีตั้งแต่แค่เล่นเกมให้ได้เงินไม่กี่ดอลลาร์เป็นครั้งคราว ไปจนถึงสร้างรายได้เป็นอาชีพเต็มเวลาสำหรับผู้เล่นที่ฉลาดและมีไหวพริบ

การกระจายอำนาจและการเป็นเจ้าของ

ความแตกต่างสำคัญระหว่างเกมแบบดั้งเดิมกับ GameFi อยู่ที่การรวมศูนย์กับการกระจายอำนาจ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้พัฒนาเกมรายใหญ่แห่งหนึ่งเปลี่ยนข้อตกลงการอนุญาตใช้งานสำหรับผู้ใช้ปลายทาง ผู้เล่นที่ไม่ยอมรับไม่สามารถเข้าถึงบัญชีเพื่อเล่นเกมที่พวกเขาซื้อไปแล้วได้ นี่คือการรวมศูนย์ มีบริษัทเดียวที่ควบคุมการเข้าถึง ความเสี่ยงอีกอย่างของการรวมศูนย์คือการถูกละเมิดข้อมูล การรวมศูนย์ทำให้แฮกเกอร์ที่อาจต้องการขโมยข้อมูลผู้ใช้หรือข้อมูลบัตรเครดิตมีเป้าหมายที่หวังผลมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม GameFi ใช้บล็อกเชนสาธารณะแบบกระจายศูนย์ คุณไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลส่วนตัว แต่แทนที่ด้วยการเชื่อมต่อเกมโดยใช้ที่อยู่กระเป๋าเงินคริปโตของคุณเป็นนามแฝง แม้ว่าคุณอาจใช้ชื่อผู้เล่นที่อ่านเข้าใจได้ด้วย ใน GameFi ไม่มีผู้มีอำนาจรวมศูนย์ที่จะปฏิเสธการเข้าถึง แพลตฟอร์ม GameFi หลายแห่งยังใช้องค์กรอิสระแบบกระจายอำนาจ (DAO) เพื่อให้ผู้ถือโทเค็นลงคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์ม

การรวมศูนย์และการกระจายอำนาจยังมีบทบาทในความเป็นเจ้าของทรัพย์สินในเกม ตลอดจนตัวตนในเกมของคุณเอง เกมแบบรวมศูนย์แบบดั้งเดิมสามารถลบทรัพย์สินในเกมหรือแม้แต่ตัวคุณจากการเป็นผู้เล่นได้ด้วยการคลิกเมาส์เพียงครั้งเดียว ในทางตรงกันข้าม GameFi ให้ผู้เล่นเป็นเจ้าของทรัพย์สินในเกม และมักให้ชุมชนควบคุมโปรเจ็กต์ผ่านการลงคะแนนของ DAO

โมเดลการสร้างรายได้

การกระจายอำนาจยังนำไปสู่โมเดลการสร้างรายได้ที่แตกต่างสำหรับเกม GameFi ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เล่น โดยทรัพย์สินในเกมถูกแปลงเป็น NFTตัวอย่างเช่น ที่ดินในเกม Metaverse ถูกแทนด้วย NFT ซึ่งคุณสามารถขายหรือแม้แต่ให้เช่าเพื่อสร้างรายได้ในบางเกมได้ ในทำนองเดียวกัน อุปกรณ์อัพเกรดต่างๆ เช่น อุปกรณ์ เกราะ หรือสกินก็อาจเป็น NFT ด้วย ช่วยให้ผู้เล่นขายอุปกรณ์ให้กับผู้เล่นคนอื่นได้เมื่ออัปเกรดไปใช้อุปกรณ์ใหม่ 

Star atlas

ในปี 2018 มีการขาย NFT ในชื่อ CryptoKitties ในราคา 600 ETH ซึ่งตอนนั้นมีมูลค่าราว 172,000 ดอลลาร์ นั่นคือมากกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์ตามราคา ETH ในปัจจุบัน KryptoKitties เป็นหนึ่งในเกมบล็อกเชนยุคแรกๆ ที่ปูทางสู่เกมเว็บ 3 รุ่นใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าในปัจจุบัน

Smart Contract ของ DeFi เป็นหัวใจสำคัญของธุรกรรมแบบ peer-to-peer เหล่านี้ ช่วยให้ที่อยู่กระเป๋าเงินบนเครือข่ายสามารถทำธุรกรรมโดยใช้ตัวตนแบบนิรนามได้ ธุรกรรมบางส่วนอาจนำไปให้ทีมพัฒนาเพื่อช่วยจ่ายค่าพัฒนาแพลตฟอร์มต่อไป ทีมเองก็อาจถือโทเค็นด้วย ซึ่งมักมอบให้เป็นส่วนหนึ่งของการแจกจ่ายตั้งแต่แรก เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ปรับปรุงเกมและเพิ่มความต้องการโทเค็นเกม

ในทางกลับกัน เกมแบบดั้งเดิมอาศัยการขายแบบเดิมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการขายตัวเกม ค่าสมาชิก และ microtransactions รายได้ทั้งหมดที่ได้จากผู้เล่นจะอยู่ในแพลตฟอร์มของบริษัทเกม นอกจากนี้ ผู้พัฒนาเกมยังสามารถเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในเกมได้ตลอดเวลา

เริ่มต้นเล่น GameFi ได้อย่างไร


ในการเริ่มต้นเล่น GameFi คุณต้องมีกระเป๋าเงินคริปโต และส่วนใหญ่ก็ต้องใช้เงินคริปโตบางส่วน โดยคุณจะต้องใช้คริปโตเคอเรนซีอะไรขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการเล่นเกมอะไร ตัวอย่างเช่น Axie Infinity เน้นไปที่ ETH แต่ Star Atlas ทำงานบนบล็อกเชน Solana ซึ่งหมายความว่าคุณจะต้องใช้โทเค็น SOL และกระเป๋าเงินที่เข้ากันได้กับ Solana เพื่อเริ่มต้น

เลือกแพลตฟอร์ม GameFi

GameFi 2024 มีเกมแทบทุกประเภทสำหรับเกมเมอร์ทุกแบบ คุณสามารถเลือกจากเกมที่ง่ายและผ่านการพิสูจน์แล้วว่าเป็นที่นิยมอย่างเช่น CryptoKitties หรือ Axie Infinity หรือเลือกสำรวจโลก Metaverse อันไม่มีที่สิ้นสุดอย่าง Decentraland หรือจักรวาลทั้งใบใน Illuvium ก็ได้

  • CryptoKitties: แม้จะไม่ได้รับความนิยมเท่าสมัยที่เคยทำให้ Ethereum แทบจะล่ม แต่ CryptoKitties ก็ยังคงช่วยให้ผู้เล่นปลดปล่อยนักพันธุศาสตร์ในตัวเองผ่านการผสมพันธุ์ NFT แมวน้อยได้
  • Axie Infinity: หากคุณชอบเกมแบบต่อสู้สไตล์โปเกมอน คุณอาจชอบ Axie Infinity ด้วย มาสร้างทีม Axie ที่เก่งและต่อสู้สู่ความเป็นที่สุด
  • Decentraland: สำรวจ Metaverse อันไร้ขอบเขตที่มีทุกอย่างสำหรับทุกคน พร้อมเศรษฐกิจในเกม
  • DeFi Kingdoms: กลยุทธ์ผสานกับโอกาสในการทำกำไร ในโลกแห่งจินตนาการอันแสนน่ารักสดใสใน DeFi Kingdoms
  • Illuvium: ต่อสู้ในสนามประลองบนโลกห่างไกลในโปรเจ็กต์ GameFi ที่มีชุมชนเป็นผู้กำกับดูแล
  • Pixels: เกม Pixels ที่ตั้งชื่อได้เหมาะสมนี้นำกราฟิก 8 บิตกลับมาใน Play-to-Earn เกมนี้ให้คุณสร้างโลกความละเอียดต่ำของตัวเอง พร้อมโอกาสในการทำกำไรสำหรับผู้เล่นขยัน

เริ่มต้นลงทุน

ขึ้นอยู่กับเกมที่คุณเลือก คุณอาจต้องมีเงินคริปโตจำนวนหนึ่งเพื่อเริ่มต้น มักจะเป็นการซื้ออวาตาร์ อุปกรณ์ หรือทรัพย์สินอื่นๆ ในเกมที่คุณอาจต้องใช้เพื่อเริ่มผจญภัย คุณจะต้องมีกระเป๋าเงินคริปโตที่คุณดูแลเอง (self-custody crypto wallet) เพื่อเชื่อมต่อกับเกมและทำธุรกรรม คุณจะไม่สามารถเชื่อมต่อกับกระเป๋าเงินบนกระดานเทรดคริปโตได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถใช้กระดานเทรดคริปโตในการซื้อคริปโตและส่งไปยังกระเป๋าเงินที่คุณดูแลเองได้

หมายเหตุ: คุณอาจต้องมีคริปโตบางส่วนในกระเป๋าเงินเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมเครือข่ายในเกมด้วย

ความเสี่ยงของ GameFi


ไม่ใช่ทุกโอกาสใน GameFi ที่จะทำกำไรได้ และในบางกรณี คุณอาจเสียหมดตัวได้ ในปี 2022 มีการแฮก Harmony One Bridge ซึ่งเป็น Bridge ที่ DeFi Kingdoms ใช้อยู่ โดยต่อมาเปลี่ยนไปใช้เครือข่าย Klaytn แทนเพื่อรองรับเกม มีรายงานว่าผู้เล่นบางคนสูญเสียเงินในการแฮกครั้งนั้นเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ โทเค็น JEWEL ของเกมก็ร่วงลงไป 50% หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

  • ความเสี่ยงของ Smart Contract: Smart Contract คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำงานบนบล็อกเชนโดยใช้ภาษาแบบมีเงื่อนไข ถ้าเกิดสิ่งนี้ก็ให้ทำสิ่งนั้น แฮกเกอร์อาจหาช่องโหว่ที่ทำให้ Contract เหล่านี้ทำอะไรที่ไม่คาดคิด เหมือนเหตุการณ์ Harmony Hack
  • ความเสี่ยงของกระเป๋าเงินที่ดูแลเอง: การจัดการคริปโตในกระเป๋าเงินที่ดูแลเองต้องใช้ขั้นตอนรักษาความปลอดภัยมากกว่า มือใหม่อาจทำผิดพลาดจนทำให้คริปโตของตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง นอกจากนี้ กระเป๋าเงินบางตัวอาจมีบั๊กหรือโค้ดที่ไม่ปลอดภัย คล้ายกับ Smart Contract
  • ความเสี่ยงด้านราคาโทเค็น: โทเค็นคริปโตของ GameFi หลายตัวมีอุปทานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โมเดลนี้ช่วยจัดหารางวัลในเกม Play-to-Earn แต่ก็กระทบต่อราคาของโทเค็นเองด้วย ราคาโทเค็นอาจตกลงถ้าเกมเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง

ผลกระทบของ GameFi ต่ออนาคตของวงการเกม


โปรเจ็กต์ GameFi นำประโยชน์หลายอย่างมาเทียบกับเกมแบบดั้งเดิม และเราอาจเห็นเกมแบบดั้งเดิมนำคุณสมบัติบางอย่างของ GameFi มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น ผู้เล่นอาจสามารถบันทึกอุปกรณ์และทรัพย์สินในเกมเป็น NFT ได้ แม้ว่าการอัพเกรดในเกมจะเป็นธุรกิจใหญ่ของบริษัทเกม และแรงจูงใจคือการรักษาโมเดลธุรกิจที่มีอยู่ แต่ตลาด GameFi ที่เติบโตก็จะกระตุ้นให้ผู้พัฒนาเกมบางรายมอบความเป็นอิสระให้กับผู้เล่นมากขึ้น เกม GameFi อย่าง Pixels อวดว่ามีกระเป๋าเงินที่ใช้งานอยู่มากกว่า 650,000 กระเป๋า ทำให้ GameFi เป็นอีกหนึ่งส่วนที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมเกม

ในระยะสั้น เกมแบบดั้งเดิมและ GameFi ต่างก็มีตลาดของตัวเอง โดยผู้เล่นมีทางเลือกในการเล่นแบบใดก็ได้

บทสรุป


GameFi ผสานโลกของเกมและการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) เข้าด้วยกัน เพื่อมอบอิสระและความเป็นเจ้าของทรัพย์สินในเกมให้ผู้เล่น ธรรมชาติแบบกระจายศูนย์ของเกมเองช่วยให้ทุกคนเข้าถึงเกมได้โดยไม่มีข้อจำกัดและกำแพงขวางกั้นแบบที่พบในเกมแบบดั้งเดิม เมื่อเข้าไปแล้ว ผู้เล่นสามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกมได้หลายวิธี รวมถึงการหาโทเค็น GameFi การซื้อขาย NFT และแม้แต่การเป็น Liquidity Provider สำหรับโทเค็นเกมใน DEX แบบกระจายศูนย์

เมื่อส่วน GameFi เติบโตขึ้นต่อไป เราสามารถคาดหวังเกมใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นได้ บริษัทเกมแบบดั้งเดิมก็อาจเริ่มสังเกตเห็นและค่อยๆ มอบความเป็นเจ้าของทรัพย์สินในเกมบางส่วนให้ผู้เล่นโดยใช้บล็อกเชน

คำถามที่พบบ่อย

GameFi คืออะไร?

ความหมายของคำว่า GameFi หมายถึงเกม Play-to-Earn ที่นำเสนอโอกาสในการทำกำไรผ่านระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) ผู้เล่นมักจะหาโทเค็นคริปโตและซื้อขายทรัพย์สินในเกมเป็น Non-Fungible Token (NFT) ได้

GameFi มีอนาคตหรือไม่?

GameFi เติบโตก้าวหน้าไปไกลกว่ารากฐานที่เริ่มต้นอย่างเรียบง่ายจากเกมอย่าง CryptoKitties ไปสู่โปรเจ็กต์ที่น่าประทับใจอย่าง Star Atlas และ Illuvium แล้ว ความเติบโตในอนาคตน่าจะขึ้นอยู่กับการหาส่วนผสมที่เหมาะสมระหว่างความสนุกในการเล่น และโอกาสในการหารายได้ในเกม

ผู้เล่นสามารถหารายได้ใน GameFi ได้อย่างไร?

ผู้เล่นสามารถหารายได้ได้หลายทางใน GameFi รวมถึงการหาโทเค็นเกมจากการทำภารกิจ หรือไปถึงเป้าหมายสำคัญ GameFi ยังใช้ NFT ในการแสดงถึงทรัพย์สินในเกมด้วย ช่วยให้ผู้เล่นได้กำไรและเรียกคืนต้นทุนในการซื้อ บาง GameFi ยังมีระบบเศรษฐกิจภายในเกม เปิดโอกาสให้ผู้เล่นปล่อยเช่าทรัพย์สิน จัดอีเว้นท์ หรือรับจ้างบริการเพื่อรับค่าตอบแทน

แหล่งอ้างอิง